อาหารภาคใต้ นับเป็นอาหารที่มีรสชาติจัดจ้า มีรสเผ็ดจัดและชอบใส่เครื่องเทศมากๆ โดยเฉพาะขมิ้น เพื่อดับกลิ่นคาวของอาหารทะเลจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา คนใต้ชอบกินผักกับอาหารแทบทุกชนิด เพื่อช่วยลดความเผ็ด
วิธีการทำส่วนประกอบที่สำคัญของแกงพุงปลา คือพุงปลา และปลาย่าง พุงปลาที่นิยมรับประทาน ได้แก่ พุงปลาช่อน ปลาขี้เด (ปลากระดี่)ปลากระบอก ปลาทู หรือปลาอื่น ๆ ส่วนปลาย่างที่นิยมใช้ได้แก่ ปลาช่อน ปลากระเบน ปลาดุก ปลาทู ปลาแดง ฯลฯ เครื่องแกงใช้อย่างเดียวกันกับเครื่องแกงกะทิ หรือแกงเผ็ดทั่วไป ประกอบด้วย พริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ พริกไทยดำ หอม กระเทียม ขมิ้น ผิวมะกรูด และกะปิ
เครื่องปรุงรส ที่สำคัญคือ เคยปลา(กะปิปลา)และใบทำมัง (ชะมัง) เคยปลาได้จากการนำปลาเล็ก ๆ มาคลุกเกลือ ตำพอแหลก ตากแดดแล้วตำจนละเอียดอีกครั้ง เก็บใส่ภาชนะไว้ประมาณ ๒๐ วัน จึงนำมาใช้แกงได้ใบทำมัง ได้จากต้นทำมัง ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ใบดกหนาทึบ มีกลิ่นฉุนคล้ายแมงดา ชาวบ้านนิยมใช้ใส่ในแกงพุงปลา และตำผสมน้ำพริกแทนแมงดา การปรุงแกงพุงปลาหรือแกงน้ำเคย ขั้นตอนแรก เอาน้ำสะอาดใส่หม้อแกง ใส่พุงปลาและเคยปลา ต้มจนเดือด นำมากรองใส่อีกหม้อหนึ่ง เติมน้ำในปริมาณที่พอเหมาะกับเครื่องปรุง ต้มให้เดือด เอาเครื่องแกงที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ใส่ลงในหม้อแกง เอาปลาย่างที่ฉีกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไป ต้มให้เดือดจนเครื่องแกงและพุงปลาละลายเข้ากัน ต้มอีกประมาณ ๒๐ นาที ใส่ใบทำมัง ใบมะกรูด เพื่อให้กลิ่นหอม เพิ่มรสชาติให้ชวนรับประทาน การรับประทานแกงพุงปลา ถ้าจะให้ เอร็ดอร่อยมากขึ้น ต้องมี "ผักเหนาะ" ด้วย ผักเหนาะที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ยอดหมุย ยอดมันปู ยอดหัวครก (มะม่วงหิมพานต์) บัวบก ผักกาดนกเขา มะเขือพวง สะตอ สะตอเบา (กระถิน) ลูกเนียง และลูกเหรียง เป็นต้น
ประโยชน์
ชาวพัทลุงนิยมใช้แกงพุงปลาหรือแกงน้ำเคย เป็นอาหารหลักในการเลี้ยงแขกของงานบุญต่าง ๆ ที่มีคนมาก ๆ เช่น งานบวช งานศพ และงานวัดต่าง ๆ เนื่องจากเป็นแกงที่ปรุงง่าย ราคาถูก และเป็นที่นิยมของคนทั่วไป นอกจากแกงพุงปลาหรือแกงน้ำเคย จะมีบทบาทด้านวัฒนธรรมการกินของชาวพัทลุงโดยตรงดังกล่าวแล้ว ยังมีบทบาทด้านวัฒนธรรมอื่น ๆ อีก ที่สำคัญ คือ วัฒนธรรมด้านภาษากับชาวพัทลุง เนื่องจากแกงพุงปลาหรือแกงน้ำเคย มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของชาวพัทลุงเป็นอย่างมาก จึงทำให้คำว่า "แกงพุงปลา" หรือแกงน้ำเคยเข้ามาอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านภาษาด้วย ดังจะเห็นว่าชาวพัทลุงนำคำว่า "แกงพุงปลา" หรือ "แกงน้ำเคย" ไปใช้ในการสื่อความหมายโดยนัย เมื่อเชื้อเชิญให้เพื่อนบ้านมาร่วมงานบวชนาคว่า "มากินแกงพุงปลากัน" หรือ "มากินแกงน้ำเคยกัน" ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่า แกงพุงปลาหรือแกงน้ำเคย มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงกับใช้คำว่า " แกงพุงปลา" หรือ "แกงน้ำเคย" เป็นเครื่องสื่อความหมายแทนการส่งบัตรเชิญ
ขอบคุณพิเศษสูตรแกงพุงปลาจาก นครทูเดย์.คอม
http://www.nakhontoday.com/detail_news.php?n_id=892
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น